ประเทศพม่า

ประเทศพม่า

ประเทศพม่า (อังกฤษ: Myanmar หรือ Burma) มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (อังกฤษ: Republic of the Union of Myanmar[1]; พม่า: ပြည်ထောင်စု သမ္မတ မြန်မာနိုင်ငံတော် [pjìdà̀uɴzṵ θà̀ɴməda̯ mjəmà nàiɴŋàɴdɔ̀] ปี่เด่าง์ซุ ซัมมะดะ มยะหม่า ไหน่หงั่นด่อ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด มีพรมแดนทางทิศเหนือติดต่อกับจีน ทางทิศตะวันตกติดต่อกับอินเดียและบังกลาเทศ ทางทิศตะวันออกติดต่อกับลาวและไทยและทางทิศใต้จรดทะเลอันดามัน ยกเว้นทางฝั่งตะวันตกซึ่งอาจจรดมหาสมุทรอินเดีย แต่เดิมชาวตะวันตกเรียกประเทศนี้ว่า Burma จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2532 พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar ชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่บางชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เป็นต้น ไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อนี้ เนื่องจากไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ ปัจจุบันหลายคนใช้คำว่า Myanmar ซึ่งมาจากชื่อประเทศในภาษาพม่าว่า Myanma Naingngandaw ไม่ว่าจะมีความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม คำว่าเมียนมาร์เป็นการทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า Myanmar แต่ความจริงแล้ว ชาวพม่าเรียกชื่อประเทศตนเองว่า มยะหม่า หรือ เมียนมา

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่มอญ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวพม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทยอีกด้วย

 มอญ

 

ชาวมอญ ชนเผ่าแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้

มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าเมื่อราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่ชนเผ่าแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิ อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณใกล้เมืองท่าตอน (Thaton) ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของเมียนมาร์

พยู

ชาวปยูหรือพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศเมียนมาร์ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) อาณาจักรศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนเมียนมาร์เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง และชาวพยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าพยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวพยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี

นครรัฐของชาวพยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาร์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองหะลินคยี อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวพยูอีก

อาณาจักรพุกาม

 

แผนที่ทวีปเอเชียใน พ.ศ. 1743 แสดงถึงขอบเขตอาณาจักรต่าง ๆ (พุกามอยู่ใกล้กับเลขที่ 34 ทางขวา)

ชาวพม่าเป็นชนเผ่าจากทางตอนเหนือที่ค่อย ๆ อพยพแทรกซึมเข้ามาสั่งสมอิทธิพลในดินแดนประเทศพม่าทีละน้อย กระทั่งปีพุทธศักราช 1392 จึงมีหลักฐานถึงอาณาจักรอันทรงอำนาจซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “พุกาม” (Pagan) โดยได้เข้ามาแทนที่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจภายหลังจากการเสื่อมสลายไปของอาณาจักรชาวพยู อาณาจักรของชาวพุกามแต่แรกนั้นมิได้เติบโตขึ้นอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587–1620) พระองค์จึงสามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ และเมื่อพระองค์ทรงตีเมืองท่าตอนของชาวมอญได้ในปีพุทธศักราช 1600 อาณาจักรพุกามก็กลายเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุดในดินแดนพม่า อาณาจักรพุกามมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจานสิตา (พ.ศ. 1624–1655) และพระเจ้าอลองสิธู (พ.ศ. 1655–1710) ทำให้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดินแดนในคาบสมุทรสุวรรณภูมิเกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดยอาณาจักรเพียงสองแห่ง คือเขมรและพุกาม

อำนาจของอาณาจักรพุกามค่อยๆ เสื่อมลง ด้วยเหตุผลหลักสองประการ ส่วนหนึ่งจากการถูกเข้าครอบงำโดยของคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งจากการรุกรานของจักรวรรดิมองโกลที่เข้ามาทางตอนเหนือ พระเจ้านรสีหบดี (ครองราชย์ พ.ศ. 1779–1830) ได้ทรงนำทัพสู่ยุนนานเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของมองโกล แต่เมื่อพระองค์แพ้สงครามที่งาสองกยัน (Ngasaunggyan) ในปีพุทธศักราช 1820 ทัพของอาณาจักรพุกามก็ระส่ำระสายเกือบทั้งหมด พระเจ้านรสีหบดีถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ในปีพุทธศักราช 1830 กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้อาณาจักรมองโกลตัดสินใจรุกรานอาณาจักรพุกามในปีเดียวกันนั้น ภายหลังสงครามครั้งนี้ อาณาจักรมองโกลก็สามารถเข้าครอบครองดินแดนของอาณาจักรพุกามได้ทั้งหมด ราชวงศ์พุกามสิ้นสุดลงเมื่อมองโกลได้แต่งตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นบริหารดินแดนพม่าในปีพุทธศักราช 1832

อังวะและหงสาวดี

หลังจากการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม พม่าได้แตกแยกออกจากกันอีกครั้ง ราชวงศ์อังวะซึ่งได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรพุกามได้ถูกสถาปนาขึ้นที่เมืองอังวะในปีพุทธศักราช 1907 ศิลปะและวรรณกรรมของพุกามได้ถูกฟื้นฟูจนยุคนี้กลายเป็นยุคทองแห่งวรรณกรรมของพม่า แต่เนื่องด้วยอาณาเขตที่ยากต่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู เมืองอังวะจึงถูกชาวไทใหญ่เข้าครอบครองได้ในปีพุทธศักราช 2070

สำหรับดินแดนทางใต้ ชาวมอญได้สถาปนาอาณาจักรของพวกตนขึ้นใหม่อีกครั้งที่หงสาวดี โดยกษัตริย์ธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2035 – 2070) เป็นจุดเริ่มต้นยุคทองของมอญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาทและศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา

 อาณาจักรตองอู

 พระเจ้าบุเรงนอง “ผู้ชนะสิบทิศ”

หลังจากถูกรุกรานจากไทใหญ่ ชาวอังวะได้อพยพลงมาสถาปนาอาณาจักรแห่งใหม่โดยมีศูนย์กลางที่เมืองตองอูในปีพุทธศักราช 2074 ภายใต้การนำของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ (ครองราชย์ พ.ศ. 2074–2093) ซึ่งสามารถรวบรวมพม่าเกือบทั้งหมดให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อีกครั้ง

ในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค ชาวไทใหญ่มีกำลังเข้มแข็งเป็นอย่างมากทางตอนเหนือ การเมืองภายในอาณาจักรอยุธยาเกิดความไม่มั่นคง ในขณะที่โปรตุเกสได้เริ่มมีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสามารถเข้าครอบครองมะละกาได้ เกี่ยวกับการเข้ามาของบรรดาพ่อค้าชาวยุโรป พม่ากลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี เหตุผลส่วนหนึ่งก็เนื่องด้วยทำเลทางการค้า พระเจ้าบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094–2124) ซึ่งเป็นพระเทวัน (พี่เขย) ของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ และสามารถเข้าครอบครองอาณาจักรต่าง ๆ รายรอบได้ อาทิ มณีปุระ (พ.ศ. 2103) อยุธยา (พ.ศ. 2112) ราชการสงครามของพระองค์ทำให้พม่ามีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลที่สุด อย่างไรก็ตาม ทั้งมณีปุระและอยุธยา ต่างก็สามารถประกาศตนเป็นอิสระได้ภายในเวลาต่อมาไม่นาน

เมื่อต้องเผชิญกับการก่อกบฏจากเมืองขึ้นหลายแห่ง ประกอบกับการรุกรานของโปรตุเกส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูจำเป็นต้องถอนตัวจากการครอบครองดินแดนทางตอนใต้ โดยย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอังวะ พระเจ้าอะนอกะเพตลุน (Anaukpetlun) พระนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งในพุทธศักราช 2156 พระองค์ตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าต่อต้านการรุกรานของโปรตุเกส พระเจ้าทาลุน (Thalun) ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ ได้ฟื้นฟูหลักธรรมศาสตร์ของอาณาจักรพุกามเก่า แต่พระองค์ทรงใช้เวลากับเรื่องศาสนามากเกินไป จนละเลยที่จะใส่ใจต่ออาณาเขตทางตอนใต้ ท้ายที่สุด หงสาวดี ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสซึ่งตั้งมั่นอยู่ในอินเดีย ก็ได้ทำการประกาศเอกราชจากอังวะ จากนั้นอาณาจักรของชาวพม่าก็ค่อย ๆ อ่อนแอลงและล่มสลายไปในปีพุทธศักราช 2295 จากการรุกรานของชาวมอญ

ราชวงศ์อลองพญา

ราชวงศ์อลองพญาได้รับการสถาปนาขึ้นและสร้างความเข้มแข็งจนถึงขีดสุดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว พระเจ้าอลองพญาซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมจากชาวพม่า ได้ขับไล่ชาวมอญที่เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวพม่าได้ในปี พ.ศ. 2296 จากนั้นก็สามารถเข้ายึดครองอาณาจักรมอญได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2302 ทั้งยังสามารถกลับเข้ายึดครองกรุงมณีปุระได้ในช่วงเวลาเดียวกัน พระองค์สถาปนาให้เมืองย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2303 หลังจากเข้ายึดครองตะนาวศรี (Tenasserim) พระองค์ได้ยาตราทัพเข้ารุกรานอยุธยา แต่ต้องประสบความล้มเหลวเมื่อพระองค์ทรงสวรรคตระหว่างการสู้รบ พระเจ้าเซงพะยูเชง (Hsinbyushin, ครองราชย์ พ.ศ. 2306 – 2319) พระราชโอรส ได้โปรดให้ส่งทัพเข้ารุกรานอาณาจักรอยุธยาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2309 ซึ่งประสบความสำเร็จในปีถัดมา ในรัชสมัยนี้ แม้จีนจะพยายามขยายอำนาจเข้าสู่ดินแดนพม่า แต่พระองค์ก็สามารถยับยั้งการรุกรานของจีนได้ทั้งสี่ครั้ง (ในช่วงปี พ.ศ. 2309–2312) ทำให้ความพยายามในการขยายพรมแดนของจีนทางด้านนี้ต้องยุติลง ในรัชสมัยของพระเจ้าโบดอพญา (Bodawpaya, ครองราชย์ พ.ศ. 2324–2362) พระโอรสอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอลองพญา พม่าต้องสูญเสียอำนาจที่มีเหนืออยุธยาไป แต่ก็สามารถผนวกดินแดนยะไข่ (Arakan) และตะนาวศรี (Tenasserim) เข้ามาไว้ได้ในปี พ.ศ. 2327 และ 2336 ตามลำดับ ในช่วงเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2366 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าบาคยีดอว์ (Bagyidaw, ครองราชย์ พ.ศ. 2362–2380) ขุนนางชื่อมหาพันธุละ (Maha Bandula) นำทัพเข้ารุกรานแคว้นอัสสัมได้สำเร็จ ทำให้พม่าต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับอังกฤษที่ครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น

สงครามกับอังกฤษและการล่มสลายของราชอาณาจักรพม่า

 

ภาพเจดีย์ชเวดากอง วาดโดยช่างภาพชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2368

สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่งนี้ (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญายันดาโบ (Yandaboo) กับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม มณีปุระ ยะข่าย และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษเริ่มก็ต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้น เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษ ทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้ อังกฤษได้ผนวกหงสาวดีและพื้นที่ใกล้เคียงเข้าไว้กับตน โดยได้เรียกดินแดนดังกล่าวเสียใหม่ว่าพม่าตอนใต้ สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (Mindon Min, ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าปะกัน (Pagin Min, ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนากรุงมัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอก ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้

รัชสมัยต่อมา พระเจ้าธีบอ (Thibow, ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอที่จะควบคุมพระราชอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปีพุทธศักราช 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้

การเมือง

พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ติดต่อกับพวกตะขิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาหนุ่มที่มีหัวรุนแรง มีออง ซาน นักชาตินิยม และเป็นผู้นำของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้งเป็นหัวหน้า พวกตะขิ้นเข้าใจว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนการประกาศอิสรภาพของพม่าจากอังกฤษ แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองพม่าได้แล้ว กลับพยายามหน่วงเหนี่ยวมิให้พม่าประกาศเอกราช และได้ส่งอองซานและพวกตะขิ่นประมาณ 30 คน เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

เมื่อคณะของอองซานได้เดินทางกลับพม่าใน พ.ศ. 2485 อองซานได้ก่อตั้ง องค์การสันนิบาตเสรีภาพแห่งประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League : AFPFL) เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับ ๆ องค์การนี้ภายหลังได้กลายเป็นพรรคการเมือง ชื่อ พรรค AFPFL เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว อองซานและพรรค AFPFL ได้เจรจากับอังกฤษ โดยอังกฤษยืนยันที่จะให้พม่ามีอิสรภาพปกครองตนเองภายใต้เครือจักรภพ และมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำพม่าช่วยให้คำปรึกษา แต่อองซานมีอุดมการณ์ที่ต้องการเอกราชอย่างสมบูรณ์ อังกฤษได้พยายามสนันสนุนพรรคการเมืองอื่น ๆ ขึ้นแข่งอำนาจกับพรรค AFPFL ของอองซานแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงยินยอมให้พรรค AFPFL ขึ้นบริหารประเทศโดยมีอองซานเป็นหัวหน้า อองซานมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และต้องการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยสันติวิธี จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ในพรรค AFPFL อองซานและคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน จึงถูกลอบสังหาร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ขณะที่เดินออกจากที่ประชุมสภา ต่อมาตะขิ้นนุหรืออูนุได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนและมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2490 โดยอังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่พม่าแต่ยังรักษาสิทธิทางการทหารไว้ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 อังกฤษจึงได้มอบเอกราชให้แก่พม่าอย่างสมบูรณ์

ภายหลังจากพม่าได้รับเอกราชแล้วการเมืองภายในประเทศก็มีการสับสนอยู่ตลอดเวลา นายกรัฐมนตรี คือ นายอูนุถูกบีบให้ลาออก เมื่อพ.ศ. 2501 ผู้นำพม่าคนต่อมาคือนายพลเน วิน ซึ่งได้ทำการปราบจลาจลและพวกนิยมซ้ายจัดอย่างเด็ดขาด เขาได้จัดไห้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศใน พ.ศ. 2503 ทำให้นายอูนุได้กลับมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะได้รับเสียงข้างมากในสภา

ภูมิศาสตร์

 

ลักษณะภูมิประเทศพม่า

 

ทุ่งนาในรัฐฉาน

 ที่ตั้งและอาณาเข

พม่ามีชายแดนติดต่อดังนี้

 ลักษณะภูมิประเทศ

  • ภาคเหนือ – เทือกเขาปัตไก เป็นพรมแดนระหว่างพม่าและอินเดีย
  • ภาคตะวันตก – เทือกเขาอาระกันโยมากั้นเป็นแนวยาว
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – เป็นที่ราบสูงชัน
  • ภาคใต้ – มีทิวเขาตะนาวศรี กั้นระหว่างไทยกับพม่า
  • ภาคกลาง – เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี

 ลักษณะภูมิอากาศ

  • มรสุมเมืองร้อน
  • ด้านหน้าภูเขาอาระกันโยมา ฝนตกชุกมาก
  • ภาคกลางตอนบนแห้งแล้งมาก เพราะมีภูเขากั้นกำบังลม
  • ภาคกลางตอนล่าง เป็นดินดอนสามเหลี่ยวปากแม่น้ำขนาดใหญ่ ปลูกข้าวเจ้า ปอ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศค่อนข้างเย็น และค่อนข้างแห้งแล้ง
  • ร้อนชื้น

เศรษฐกิจ

เกษตรกรรม เป็นอาชีพหลัก เขตเกษตรกรรมคือบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำสะโตง แม่น้ำทวาย-มะริด ปลูกข้าวเจ้า ปอกระเจา อ้อย และพืชเมืองร้อนอื่น ๆ ส่วนเขตฉาน อยู่ติดแม่น้ำโขงปลูกพืชผักจำนวนมาก ทำเหมืองแร่ ภาคกลางตอนบนมีน้ำมันปิโตรเลียม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขุดแร่ หิน สังกะสี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ทำเหมืองดีบุกทางตอนใต้เมืองมะริดมีเพชรและหยกจำนวนมาก การทำป่าไม้ มีการทำป่าไม้สักทางภาคเหนือ ส่งออกขายและล่องมาตามแม่น้ำอิรวดีเข้าสู่ย่างกุ้ง อุตสาหกรรม กำลังพัฒนา อยู่บริเวณตอนล่าง เช่น ย่างกุ้ง และ มะริด และทวาย เป็นอุตสาหกรรมต่อเรือเดินสมุทรที่ใหญ่ของพม่า เป็นประเทศกำลังพัฒนาขั้นต่ำ

การคมนาคมขนส่ง

การขนส่งทางบก ได้แก่ ทางถนนและทางรถไฟ ทางถนน ถนนในพม่าส่วนใหญ่ขนานไปกับภูเขาและแม่น้ำ ทอดไปตามความยาวของประเทศ เช่นเดียวกับทางรถไฟ ถนนสายต่าง ๆ ที่สำคัญมีดังนี้ ถนนสายพม่า เป็นถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างย่างกุ้งกับเมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน มีความยาวในเขตพม่าถึงเมืองหมูแจ้ ประมาณ 1,160 กิโลเมตร และมีความยาวในเขตจีนจากหมูแจ้ถึงคุนหมิง ประมาณ 90 กิโลเมตร ถนนสายนี้ผ่านเมืองต่าง ๆ คือ พะโคตองอูปินมานาเมกติลามัณฑะเลย์เมเบียงกอดเต็กสีป๊อล่าเสี้ยวแสนหวีหมูแจ้ รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,140 กิโลเมตร ใช้การทุกฤดูกาล ทางรถไฟ ทางรถไฟของพม่าได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481

การขนส่งทางน้ำ การคมนาคมขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศพม่าเป็นอย่างมาก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมหลักมาตั้งแต่อดีต เนื่องจากพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำอิระวดีมีทางน้ำอยู่มากมาย และเป็นเขตที่มีประชาชนพลเมืองอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ประกอบกับเส้นทางถนนและทางรถไฟยังมีจำกัด

ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2

ใส่ความเห็น